ผมจำได้ว่าเริ่มรู้จักโควิดตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่มารู้ว่ามันน่ากลัวก็ต้น 2563 เพราะไทยเราเพิ่งเคยเจอการสั่งให้อยู่กับบ้านเป็นครั้งแรก! ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เห็นเพื่อนหลายคนตกงาน หลายธุรกิจปิดตัวลง ผมเองก็เริ่มเครียดกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ แต่เราก็ต้องเดินหน้าทำงานต่อไปใช่ไหมครับ
แล้วจะทำยังไงให้เราไปต่อได้?
ทำยังไงให้การเงินเรากลับมาดีขึ้น และมั่นคง?
ผมมี 6 เคล็ดลับการเงินยุคโควิดมาฝากครับ
1.โฟกัสกับเป้าหมาย อย่าจมปลักความเครียด
เข้าใจครับว่าเราต้องเครียดกับหลายเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด แต่เราต้องยอมรับว่าเวลาไม่เคยหยุดเดิน ยิ่งปล่อยเวลาไปกับการพร่ำบ่นหรือกับความเสียใจต่างๆ เวลาชีวิตที่เหลืออยู่ก็จะยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น ไม่ต่างกับทรายในนาฬิกาทรายเลย ว่าไหมครับ
ถ้าเราแก้ไขปัญหาที่อยู่รอบตัวไม่ได้ ก็จงแก้จากตัวเราเอง ตั้งสติให้ได้และมุ่งมั่นเขียนเป้าหมายชีวิตที่เราอยากเป็นจริงๆ
งานที่ทำ ธุรกิจที่มี อยากให้มันเติบโตยังไงในปีนี้ ควรเปลี่ยนอะไรให้เข้ากับยุคโควิดบ้าง
เราอยากจะใช้ชีวิตแบบไหนกันแน่ ทำงานออฟฟิศ หรือทำงานอิสระที่ไหนก็ได้
นิสัยการเก็บเงินเราควรเป็นแบบไหน เงินเก็บในอดีตที่ผ่านมาคงบอกได้ดีว่าเรามาถูกทาง หรือควรเปลี่ยนแปลง
ศึกษาวิธีออมเงิน การลงทุน และการบริหารความเสี่ยง เช่นประกันต่างๆ
หลายคนอาจสิ้นเนื้อประดาตัว แล้วคิดว่าหมดตัวขนาดนี้ จะให้คิดบวกมาตั้งเป้าหมายชีวิตอีกเหรอ? ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูนะครับ ระหว่างการไม่ลุกมาทำอะไรเลย รอให้รัฐบาลมาช่วย รอถูกสลากกินแบ่ง กับการมุ่งมั่นเขียนเป้าหมายชีวิตและทำให้มันเป็นจริง อะไรน่าจะทำให้เรากลับมามีความสุขมากกว่ากัน
และการมีเป้าหมายชีวิตต่างๆ ถ้าจะให้ดีควรนำมาวางแผนการเงินเพิ่มเติม เช่นบางคนอาจจะวางแผนต่อเติมธุรกิจ วางแผนซื้อบ้านใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ลองไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวางแผนการเงินให้ หรือหากสนใจ ผมยินดีใช้โปรแกรม SIM MONEY ช่วยจำลองภาพทางเงินในอนาคต เพื่อให้คุณเห็นภาพชัดเจนว่าทุกเป้าหมายชีวิตของคุณจะใช้เงินแต่ละปีอย่างไร และควรวางแผนอะไรเพิ่มเติม
2.อัพเกรดรายจ่ายแบบ New Normal
ถ้าอยากมั่นคงทางการเงิน ยังไงก็ควรวางแผนรายรับรายจ่ายส่วนตัวบ้างนะครับหรือที่เรียกว่างบกระแสเงินสดส่วนบุคคล จะได้เห็นว่าเงินเรามีสัดส่วนการใช้จ่ายกับอะไรไปบ้าง
หลังเกิดวิกฤตโควิด ผมจะขอแบ่งกลุ่มคนเป็น 2 กลุ่ม และขออนุญาตแนะนำเคล็ดลับการอัพเกรดรายจ่ายแบบ New Normal ตามนี้ครับ
กลุ่มคนที่เจอปัญหาการเงิน จนงบกระแสเงินสดติดลบ เช่นการมีรายได้น้อยลง มีหนี้สินที่ค้างจ่าย หากคุณเจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ให้รีบลิสต์รายจ่ายต่างๆ แล้วมาดูว่าอะไรที่ตัดได้ก็รีบตัด ปีนี้ควรหักห้ามใจไว้ เช่น การกินข้าวกินกาแฟนอกบ้าน การท่องเที่ยว การซื้อมือถือใหม่ หรือสิ่งของที่ยังไม่จำเป็นอีกหลายอย่าง มันอาจยากที่จะตัดใจ แต่บอกตัวเองไว้ว่า รอการเงินเราดีขึ้นแล้วเราจะกลับมารับเธอนะ ดีไหมครับ :)
กลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านลบมากนัก และงบกระแสเงินสดยังเป็นบวก คนกลุ่มนี้อาจมีรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แต่จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ประหยัดได้หลายอย่าง เช่น ไม่ได้กินข้าวนอกบ้าน ค่าน้ำมันรถลดลง ไม่ได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้มีเงินเก็บมากขึ้น คนกลุ่มนี้ควรรีบโฟกัสว่าเงินเก็บที่มากขึ้นควรเอาไปทำอะไรให้มั่นคง เช่น การวางแผนเงินสำรองฉุกเฉิน การรีบปิดหนี้สินให้เร็วที่สุด การวางแผนเงินเกษียณ หรือแม้กระทั่งการซื้อประกันต่างๆ เพื่ออุดรอยรั่วทางการเงิน
3.วางแผนเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน
"เงินมีไม่พอใช้อยู่ละ จะให้เก็บเงินสำรองฉุกเฉินไปเพื่อ!?"
เข้าใจว่าหลายคนอาจคิดแบบนี้ แต่เงินสำรองฉุกเฉินคือพื้นฐานของการเงินที่มั่นคงนะครับ ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าเรามีเงินสำรองฉุกเฉินที่มากพอ ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเราก็อาจไม่เครียดมากก็ได้
ปกติในการวางแผนการเงินให้มั่นคง เงินสำรองฉุกเฉินควรมี 3- 6 เดือนของรายจ่ายจำเป็นต่างๆ เช่นค่าใช้จ่ายรายเดือน หนี้สินรายเดือน แต่พอเกิดวิกฤตโควิด แนวการวางแผนการเงินทั่วโลกจึงเปลี่ยนไปแบบนี้
สำหรับพนักงานประจำที่มีเงินเดือนแน่นอน และกลุ่มคนอายุยังไม่เยอะที่หางานใหม่ได้ง่าย ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ใช้ 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ
สำหรับเจ้าของธุรกิจ และกลุ่มคนอายุเยอะที่อาจหางานใหม่ได้ยาก ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ใช้ 12 เดือนเป็นอย่างต่ำ
หลายคนอาจคิดว่ายากในการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน แต่ควรพยายามทีละเล็กละน้อยก็ยังดีครับ และช่องทางการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินควรมั่นคง และถอนออกมาใช้ได้ง่าย เช่นบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมสิน หรือบางท่านอาจเก็บไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดอยู่ ก็เป็นไปได้ครับ
4.อยู่บ้านเยอะ คิดภาพเกษียณซะเลย
ไหนๆ ก็มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น บางคนได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ก็ลองนึกภาพอนาคตซะเลยว่าถ้าตอนเราเกษียณ อยากใช้ชีวิตแบบไหน และชีวิตแบบนั้นต้องใช้เงินเท่าไหร่
เอาจริงๆ ผมว่าการวางแผนเกษียณเป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อนมากนะครับ เพราะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง เช่น เงินเฟ้อ คุณภาพชีวิตที่อยากมี เงินสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาล บลา บลา บลา ดังนั้นถ้าอยากวางแผนเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน หรือถ้ามีตรงไหนสงสัย ก็สอบถามผมได้นะครับ
และยิ่งคุณเริ่มวางแผนเร็ว รู้ว่าจะเอาเงินไปซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินอะไร ก็จะยิ่งมีเวลาให้เงินของคุณได้เติบโต ว่าไหมครับ?
5.อย่ามัวเติมเงิน จนลืมอุดรอยรั่ว
ถ้ามีคนท้าให้คุณนั่งเรือไปให้ถึงเกาะเสม็ดภายใน 1 ชั่วโมงแล้วจะได้เงินรางวัล 1,000,000 บาท คุณจะไปไหมครับ? ฟังดูง่ายเนอะ แต่ถ้าจะบอกว่าเรือนั้นมีรูรั่วเต็มไปหมด คุณจะกล้านั่งไหมครับ?
"ก่อนนั่งเรือ ต้องอุดรอยรั่วทั้งหมด การเงินก็เช่นกัน"
เงิน ก็เหมือนยานพาหนะที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายชีวิตหลายอย่างที่เราตั้งเอาไว้ และยานพาหนะนี้ ก็มีรอยรั่วครับ ภาษาทางการเงินเรียกว่า Risk หรือความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิต เช่น การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิต บลา บลา บลา
หลักการวางแผนการเงินที่ดี จึงรวมเอา การบริหารความเสี่ยงและการวางแผนประกัน เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของแผนการเงิน
ดังนั้นลองคิดกับดูนะครับ ว่าการที่คุณมีเป้าหมายหลายอย่างในชีวิต เช่น มีกองทุนการศึกษาของลูก มีเงินเกษียณของตัวเอง มีเงินดูแลพ่อแม่ ดูแลคู่ชีวิต หากวันใดวันหนึ่งคุณเจ็บป่วยไม่สบายร้ายแรงจนไม่สามารถหาเงินได้ และยังต้องใช้ค่ารักษาเป็นล้าน หรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิต เงินที่คุณมีจะยังพอหล่อเลี้ยงเป้าหมายชีวิตเหล่านั้นให้เป็นจริงได้อีกไหม
ถ้าคำตอบคือไม่ รีบอุดรอยรั่วทางการเงินโดยการทำประกัน วันนี้เลยครับ
6.หัวเราะใส่ปัญหา อีกเรื่องที่จะผ่านไป
ท้ายที่สุด แต่ก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นคือ อะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ มันก็คือชีวิตเราที่ต้องไปต่อ และไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอปัญหาในช่วงโควิดนี้ คนทั่วโลกก็เจอเหมือนกัน แต่คนที่สามารถก้าวข้ามปัญหาได้คือคนที่เข้าใจว่า
"นี่ก็อีกปัญหาที่จะผ่านไป หัวเราะให้มัน แล้วลุยต่อ!"
บางอย่างที่เราอดทำ เพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเดินทางท่องเที่ยวลำบาก ให้มองซะว่ารอบตัวเรายังมีอะไรให้สนุกอีกเยอะ อาจฝึกสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น ครอบครัว คนรัก เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยง เพราะนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจคุณได้ดีที่สุดก็ได้นะครับ
ผมหวังว่า 6 เคล็ดลับการเงินยุคโควิด ที่ผมได้ค้นพบกับตัวเอง และจากการเรียนหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP (Certified Financial Planner) จะทำให้หลายคนมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้นนะครับ
และหากใครมีเคล็ดลับการเงินที่อยากแชร์กับผมเพิ่มเติม Facebook หรือ Line มาคุยกันตามลิงค์ด้านบนและด้านล่างเว็บได้เลยครับ
อาร์ท อภิเชษฐ์ ทองหาญ
ผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป
เลขที่ทะเบียน 103286
ตัวแทนประกันชีวิต
เลขที่ทะเบียน 5901083822
Comments